ชุดกันโควิด จำเป็นอย่างไร ทำไมถึงสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้?
ชุดกันโควิด เป็นอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่ทราบหรือไม่ว่าชุดใส่ป้องกันไวรัสที่เราเห็นกันนั้นไม่ได้มีแบบเดียว มีชื่อเรียกและประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป สำหรับใครที่จะซื้อมาใส่เองหรือต้องการบริจาคให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปดูกันว่าแบบไหนที่จะเหมาะกับการใช้งานมากที่สุด
ประเภทของ ชุดกันโควิด และความต่างที่ควรรู้
· ชุด Surgical Gown เป็นชุดคลุมทางการแพทย์ที่ใส่คลุมด้านหน้าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในขณะปฏิบัติหน้าที่ ช่วยปกคลุมได้ตั้งแต่บริเวณลำคอ แขน หน้าอก ลงไปถึงช่วงหัวเข่า ส่วนด้านหลังจะเป็นแบบเปิด ไม่ได้ปกคลุมไปถึงด้านหลัง หากสวมใส่เพียงชิ้นเดียวจะไม่ได้สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ จึงใช้สวมไว้ด้านในและสวมอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วย
· ชุด Coverall หรือชุด PPE (Personal Protective Equipment) เป็นชุดกันโควิดที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสได้แบบ 360 องศา ตั้งแต่บริเวณศีรษะลงมาถึงเท้า เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสผ่านทางผิวหนังหรือสารคัดหลั่ง ช่วยป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ และช่วยป้องกันน้ำซึมเข้าได้ ใช้ป้องกันในการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
· ชุด PAPR หรือ Power Air Purifying Respiratory เป็นชุดที่มีลักษณะคล้ายกับชุด PPE แต่จะมีพัดลมกรองอนุภาคระดับสูงต่อเข้ากับชุดคลุมศีรษะเพื่อทำหน้าที่สร้างแรงดันอากาศภายในเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสต่าง ๆ สวนเข้ามาในชุดกันโควิดได้ ออกแบบมาให้ใช้สำหรับทางการแพทย์โดยเฉพาะ มีความปลอดภัยสูง ส่วนการใช้งานจะใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อความปลอดภัย
อุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ที่ควรใช้ร่วมกับการสวมใส่ชุดป้องกันมีอะไรบ้าง?
· หน้ากากอนามัย ควรเลือกใช้หน้ากากอนามัยเกรดทางการแพทย์ชนิด Surgical mask, Medical mask หรือหน้ากาก N95 เพราะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและละอองฝอยได้
· ถุงมือยาง ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือเลือด แต่สำหรับคนทั่วไปที่ใช้เดินทางออกไปเลือกซื้อของและหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ถุงมือพลาสติกก็ถือว่าช่วยป้องกันได้เช่นกัน
· แว่นตานิรภัย หรือ Goggles ช่วยป้องกันการติดเชื้อทางดวงตา เพราะเชื้อไวรัสสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นาน 15 นาที หรืออาจนานกว่านั้นในสถานที่ปิดมิดชิด จึงมีโอกาสที่ใบหน้าและดวงตาจะสัมผัสกับเชื้อโรคได้ เป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ป้องกันร่วมกับชุดกันโควิด แต่คนทั่วไปก็สามารถสวมแว่นตาป้องกันเมื่อออกจากบ้านได้เช่นกัน
· Face Shield หรือกระจังป้องกันใบหน้า ใช้ป้องกันร่วมกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แว่นตานิรภัยและชุด PPE เพราะหากใช้งานเพียงอย่าง หรือใส่ Face Shield โดยที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยจะไม่สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 เพราะเชื้อไวรัสเข้าทางปากหรือจมูกได้นั่นเอง
· หมวกอนามัยทางการแพทย์ หรือหมวกตัวหนอน ใช้สำหรับเก็บผมไม่ให้ตกลงไปรบกวนขณะปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติป้องกันละอองน้ำด้วย ใช้ป้องกันร่วมกับชุด PPE หรือ Surgical Hood
· Surgical Hood เป็นฮู้ดป้องกันทางการแพทย์ที่ปกคลุมทั่วศีรษะโดยเว้นช่องว่างบริเวณดวงตาและปกคลุมลงมาถึงช่วงคอและท้ายทอย ใช้สำหรับการผ่าตัดหรือการปฏิบัติงานทางการแพทย์
· Leg Cover หรือถุงคลุมขา เป็นอุปกรณ์ป้องกันช่วงขาที่ใช้สวมเท้าและยาวขึ้นมาถึงช่วงหัวเข่า โดยจะใส่ไว้ด้านในชุด PPE เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบใช้แล้วทิ้ง
· รองเท้าบูท คุณสมบัติเด่นของรองเท้าบูทคือ ช่วยป้องกันน้ำ รวมถึงช่วยป้องกันสารคัดหลั่งต่าง ๆ ด้วย
การสวมชุดกันโควิดที่ถูกวิธีควรเริ่มจากอุปกรณ์ชิ้นไหนก่อน?
· สวมถุงหุ้มขาหรือ Leg Cover ก่อน และก่อนสวมควรล้างทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ 70%
· สวมชุดป้องกัน PPE ชุดกันโควิด หรือชุด PAPR
· สวมรองเท้าบูทเอาไว้ด้านในของชุดป้องกัน
· สวมหน้ากากอนามัยหรือ N95
· สวมแว่นตานิรภัยหรือ Goggles
· สวมหมวกคลุมผม
· สวม Surgical Hood
· สวมถุงมือ โดยให้สวมทับปลายแขนเสื้อไปเลย
· สวมชุดพลาสติกสำหรับกันน้ำ
· สวมถุงมือคู่ที่ 2 ทับแขนเสื้อที่ชุดพลาสติกอีกครั้ง
· สวมเฟสชิว
การใส่ชุดกันโควิดให้ป้องกันอย่างได้ผล ควรใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และหลังถอดชุดป้องกันออกแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

One reply on “ชุดกันโควิด”
[…] เป็นอุปกรณ์ป้องกันโควิดที่ควรมีติดบ้านไว้ […]