ยาป้ายแผลในปาก ใช้อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ รักษาได้ตรงอาการ ไม่ลุกลาม
สำหรับใครที่เคยเป็นแผลในปากแล้วไปซื้อ ยาป้ายแผลในปาก มาทาเอง และสงสัยว่าทำไมเภสัชกรส่วนใหญ่ถึงต้องถามรายละเอียดเกี่ยวกับแผลเยอะแยะมากมาย? เพราะความจริงแล้วแผลในปากนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และในแต่ละสาเหตุจะมีวิธีการรักษาที่ต่างกันออกไป จึงควรเลือกตัวยาให้ถูกประเภท เพราะหากใช้ไม่ถูกประเภทจะทำให้อาการหายช้าหรืออาจรุนแรงขึ้นได้
ประเภทของแผลในปาก และการเลือกใช้ยาป้ายแผลในปากอย่างถูกวิธี
· แผลจากการบาดเจ็บต่าง ๆ ยาป้ายแผลด้านในปาก ที่เหมาะกับการบาดเจ็บในช่องปากต่าง ๆ เช่น แผลจากการแปรงฟันแรงเกินไป การเผลอกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มตัวเอง แผลจากแรงกระแทก แผลจากการถูกเหล็กดัดฟันเกี่ยว และอื่น ๆ คือการใช้สเตียรอยด์ในการรักษา เช่น ตัวยา Triamcinolone acetonide 0.1% เพราะมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบของแผลในปากได้
· แผลร้อนใน เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด ความเครียด หรือความวิตกกังวลต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดแผลร้อนในในช่องปากตามบริเวณริมฝีปากด้านใน ลิ้น กระพุ้งแก้ม มีอาการปวดแสบปวดร้อน เหมาะสำหรับยาป้ายร้อนในชนิดยาชาที่มีตัวยา Lidocaine hydrochloride 2% หรือ Polidocanol 1% เป็นยาชาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
· แผลจากการติดเชื้อในช่องปาก เช่น การติดเชื้อไวรัสเริมในช่องปาก มีลักษณะเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ ขึ้นเป็นวงกลมและมีแผลด้านใน มีอาการปวดแสบปวดร้อน บวกกับอาการคัน เป็นเชื้อไวรัสที่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ ในการรักษาควรให้แพทย์หรือเภสัชกรวินิจฉัยว่าการติดเชื้อนั้น ๆ เกิดจากเชื้ออะไร เพื่อรักษาได้อย่างถูกวิธี เพราะแผลที่ติดเชื้อไวรัสในช่องปากนั้นจะไม่ใช้สเตียรอยด์ (Steroid)ในการรักษา
· แผลจากการสัมผัสสารเคมี เช่น การแพ้สาร SLS: Sodium Lauryl Sulfate ในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ที่ทำให้เกิดแผลในช่องปากได้
· แผลจากการแพ้ยาบางชนิด
วิธีการใช้ ยาป้ายแผลในปาก
· ทายาป้ายแผลในปาก วันละ 2 – 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า เย็น ก่อนนอน หรือตามที่ต้องการ
· ใช้คอตตอนบัดส์ป้ายยาบางๆ ที่บริเวณแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคจากมือ
· รอให้ตัวยาเกาะผิว เมื่อทายาป้ายแผลในปากหรือยาป้ายร้อนในแล้ว ตัวยาจะทำการดูดความชื้นที่บริเวณแผลก่อน จากนั้นตัวยาจะเข้าไปเคลือบเกาะผิวบริเวณที่เป็นแผลเอาไว้
· ควรงดดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารหลังทายาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารหลังป้ายยาจะทำให้ตัวยาหลุดติดอาหารเข้าไปในปากด้วย
· ไม่ควรใช้มือสัมผัสบ่อย ๆ เพราะมือมีการหยิบจับอยู่ตลอดเวลา ทำให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย หากนำไปสัมผัสบริเวณแผลบ่อย ๆ จะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อและมีอาการแย่ลงได้
· หากตัวยาซึมเข้าไปในปากก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะสามารถกลืนได้ มีความปลอดภัย แต่ไม่ควรทานเยอะ
ข้อควรระวังในการใช้ ยาป้ายแผลในปาก
· ไม่บีบยาในปริมาณที่มากจนเกินไป การใช้ยาป้ายแผลด้านในปากควรใช้ในปริมาณที่พอดี ทาเพียงบาง ๆ เท่านั้น ไม่ควรทาทับไว้หนาจนเกินไป เพราะจะทำให้ตัวยาเป็นผงและหลุดออกง่าย
· ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ติดต่อนานเกิน 10 วัน แม้ว่าสเตียรอยด์ที่นำมาใช้ยาป้ายนั้นจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตรายแต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
· หากใช้สเตียรอยด์แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 7 – 10 วัน ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ เพราะแผลในปากอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
· ควรเก็บยาป้ายแผลในปากให้พ้นจากความร้อน แสงแดด และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
สำหรับใครที่เป็นแผลในปาก ให้ลองสังเกตอาการดูให้แน่ใจก่อนว่าเกิดจากอะไรก่อนเลือกใช้ ยาป้ายร้อนใน เพราะหากเลือกผิดประเภทอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะแผลในปากบางชนิดก็ไม่สามารถใช้ตัวยาที่มีสเตียรอยด์ได้ แต่หากเลือกใช้ถูกประเภทแผลในปากก็สามารถหายได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน